วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

Learn from within himself.

One cannot teach a man anything, One can only enable him to learn from within himself. Galileo.

วันหนึ่ง สมฤดีโทรมาปรึกษาเรื่องของชาติชาย ลูกน้องคนโปรด ได้ความว่าชาติชายทำงานระดับพนักงานในบริษัทมา 6 ปี เขาเป็นคนที่ทำงานดี เก่ง ฉลาด คิดเร็ว พูดจาฉะฉาน คล่องแคล่ว ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิผล ถือเป็นพนักงานแถวหน้า ด้วยความเก่งที่สะสมมาทำให้เขาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนวันหนึ่งเขาได้รับการโปรโมทขึ้นเป็นหัวหน้างาน ปัญหาของสมฤดี ที่ไม่ใช่ปัญหาของชาติชายก็เกิดขึ้น


สมฤดี เล่าว่าชาติชายใช้วิธีทำงานแบบเดียวกับตอนที่เขาเป็นพนักงาน เขาไม่ได้คิดถึงการถ่ายทอดความรู้และสอนงานให้ลูกทีม เขาไม่ได้มอบหมายงานและติดตามงาน เขาได้ใจลูกน้อง พากันไปทานข้าวอร่อยๆ เฮฮา พูดคุยสนุกสนาน แต่ทีมทำงานไม่เข้าเป้า ไม่ได้มาตรฐาน ลูกค้าต่อว่า ชาติชายเป็นคนที่มั่นใจในตนเองสูง ไม่สนใจความคิดของลูกค้า เขาคิดว่าทำถูกแล้ว ดีแล้ว สมฤดีได้รับแจ้งจากลูกค้าและป้อนข้อมูลย้อนกลับ สมฤดีได้พยายามโค้ช ซึ่งชาติชายก็รับฟังดีแต่ไม่แก้ไขปรับปรุง สมฤดีสรุปว่าเธอเสียพนักงานที่มีความสามารถไปหนึ่งคน และได้หัวหน้างานที่ไม่ถูกใจมาหนึ่งคน เธอควรจะทำอย่างไรดี? ทำไมชาติชายจึงไม่ให้โอกาสแก่ตนเอง?

หลายๆคน น่าจะพอคุ้นกับเรื่องราวของชาติชาย และ การที่เราจะโปรโมทคนนั้น มีขั้นตอนสำคัญที่ต้องเตรียมการ คือการวางแผนพัฒนาพนักงาน (Individual Career Plan) เตรียมการเพื่อการขึ้นสู่ตำแหน่งให่ โดยหาความแตกต่าง (Gaps) ระหว่างคุณสมบัติที่ต้องการในตำแหน่งใหม่ และความสามารถที่พนักงานมีในปัจจุบัน แล้วพัฒนาพนักงานด้วยวิธีการฝึกอบรมในห้องเรียน OJT มอบหมายงานพิเศษ งานโครงการ self study ฯลฯ เพื่อให้มีความพร้อมในการก้าวสู่ตำแหน่งใหม่

เมื่อก้าวขึ้นตำแหน่งใหม่ก็อาจให้มีพี่เลี้ยง หรือโค้ช
  • การให้มีพี่เลี้ยง (Mentor) คอยแนะนำเมื่อก้าวสู่ตำแหน่งใหม่ เพื่อให้คำแนะนำ ดูแลให้ทำงานได้อย่างเต็มความสามารถ
  • การโค้ชโดยหัวหน้างาน หรือ Professional Coach เพื่อให้ชาติชายได้เปิดมุมมองใหม่ มุมมองของหัวหน้างาน ที่ต้องทำงานในอีกระดับ คือการบริหารงานและบริหารทีม ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด

การที่ชาติชายมีโค้ช จะแก้ปัญหาต่างๆได้ แต่ชาติชายต้องให้โอกาสแก่ตนเอง เรียนรู้จากภายในตน เปิดใจกว้าง รับฟัง ปฏิบัติ และ ปรับตนเอง (Transform) ไปสู่การเป็นหัวหน้างานที่เยี่ยมยอด ชาติชายทำได้แน่ ถ้าเขาเปิดใจ ตั้งใจ และมุ่งมั่นที่จะเป็นหัวหน้างานที่ดี มีความภาคภูมิใจในตนเองเหมือนกับที่เขามีตลอดเวลาที่เป็นพนักงาน

การดูแลคนเก่งย่อมยากกว่า และท้าทายกว่า แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่สมฤดีสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ชาติชายได้ เขาจะเป็นผู้จัดการพันธ์ A ติดปีกบินได้สูงและไกลทีเดียว สมฤดีต้องคุยกับชาติชาย สื่อสาร รับฟัง และใช้คำถามที่ทำให้เกิดการเรียนรู้และเสริมสร้างศักยภาพ คำสำคัญที่สมฤดีกำลังมองหาเพื่อตนเองและทีม ก็คือ Inspirational Leadership การเป็นผู้นำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ตนเอง ทีมงาน และองค์กร สร้างพลังงานเชิงบวกให้เกิดขึ้น ทำให้คนเปิดใจที่จะเรียนรู้ มองโลกด้วยมุมมองใหม่ๆ


วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

Powerful Listening


“The most basic of all human needs is the need to understand and be understood. The best way to understand people is to listen to them.” (Ralph Nichols)
ทักษะการฟังเป็นทักษะหนึ่งที่จำเป็นสำหรับ Coach จากการฝึกฝนมาหลายเดือน พบว่าสิ่งที่ได้จากการฟังคือ ทำให้ได้รับความรู้ และข้อมูลอย่างเต็มที่ เข้าใจคนอื่นถึงความคิดและเหตุผลของเขามากขึ้น ผู้อื่นพอใจเรามากขึ้น การที่จะเป็นผู้ฟังที่ดีนั้น เป็นสิ่งที่ดูเหมือนง่าย แต่จริง ๆ แล้วในทางปฏิบัติทำได้ยาก คนส่วนมากรู้ เข้าใจ แต่ทำไม่ค่อยดีนักเพราะทักษะการฟังจำเป็นต้องฝึกฝนอยู่เสมอ และต้องใช้ศิลปะเพื่อการฟังให้ถูกต้อง
ทักษะการฟังที่ดีนั้นต้องฟังด้วยความสนใจ ตั้งอกตั้งใจและกระตือรือร้นที่จะฟัง ฟังโดยสังเกตอย่างถี่ถ้วน ฟังให้เข้าใจความหมายเพื่อให้จับใจความของเนื้อหาได้ถูกต้อง นอกจากได้เนื้อหาแล้ว ยังต้องฟังสำเนียงและสังเกตสีหน้า รวมทั้งท่าทางของผู้พูดอีกด้วยว่าผู้พูดหมายถึงอะไร นอกจากนี้ต้องฟังด้วยความอดทนจนจบโดยไม่พยายามคาดเดาล่วงหน้าไปก่อนว่าเขา จะพูดอะไรซึ่งอาจคาดคะเนผิดได้ ฟังโดยไม่คิดเตรียมตัวโต้ตอบ ฟังอย่างมีสมาธิ ฟังด้วยความเข้าใจ ฟังโดยมุ่งเฟ้นหาใจความสำคัญมากกว่าคอยสนใจจับผิดการใช้สำนวน ฟังโดยไม่ขัดคอ ฟังเพื่อพยายามหาประเด็นที่จะประนีประนอมกัน ฟังเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน ฟังอย่างลึกซึ้งถึงจิตใจของผู้พูด รับรู้ถึงความรู้สึกของผู้พูดในขณะนั้นโดยไม่รีบด่วนตีความหมายความเข้าใจของผู้พูดเสียก่อนที่เขาจะพูดจบ การฟังแบบนี้ต้องฟังด้วยจิตว่างปราศจากอคติ หรือต้องแขวนคำพิพากษา

โดยปกติ Coach จะใช้เวลาฟัง 80% และใช้เวลาในการถามหรือสนทนา 20% และ Coach ที่ดีจะฟังเพื่อมองหาโอกาส มองหาจุดดี จุดแข็ง เพื่อรับรู้ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ทัศนคติเชิงบวก ตลอดจนสิ่งที่ Coachee ไม่ได้พูดออกมา อาจดูจากภาษาท่าทาง หรือสังเกตจากโทนเสียง จังหวะ และน้ำเสียงที่ใช้ ความเร็วในการพูด Coach จะช่วยใช้คำถามและเทคนิคกระตุ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ Coachee เกิดการเรียนรู้ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นและจูงใจ เพื่อให้เกิดกำลังใจในการก้าวไปสู่สิ่งที่ดีกว่า หรือได้รับในสิ่งที่ต้องการ