วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2552

Talent Coaching

ผู้สืบทอด (Successor) คือผู้บริหารรุ่นต่อใหม่ที่จะขึ้นมาแทนผู้ดำรงตำแหน่งเดิม การหาผู้สืบทอดมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับความต่อเนื่องของการจัดการองค์กรในทุกระดับ
องค์กรต้องการผู้สืบทอดที่ทำงานเก่ง มีความดี และความสุข จึงต้องใช้เวลาในการส่งเสริม ให้ความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ สร้างทักษะจากการทำงานจริง

Talent Coaching เป็นโปรแกรมที่เน้นการบ่มเพาะ ฝึกฝนให้กลุ่มผู้สืบทอดที่เป็นผู้บริหารทุกระดับได้พัฒนาความสามารถเฉพาะตัวจากการพัฒนาจุดแข็งหรือลักษณะพิเศษด้วยกระบวนการ Coaching ที่เหมาะสมกับแต่ละคน โปรแกรมจะเสริมสร้างการเรียนรู้ด้านใน (Inside out) เพื่อการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มีความคิด ความเชื่อ ความรู้สึกที่เปี่ยมไปด้วยพลังด้านบวก ความเชื่อมั่น ความรักความเมตตา ด้วยการสร้างขั้นตอนการเรียนรู้ และสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสำหรับการเรียนรู้ พัฒนา และเติบโตไปเป็นคนที่มีความสุข และทำงานอย่างมีความหมายต่อชีวิตและต่อองค์กร

Talent Coaching and Consulting Service
• Development of High Potential Talent
• On-boarding of New Leaders
• Creation of Successful Internal Coaching Program
• On-the Job Coaching for Internal Coach
• Coaching Club Facilitator
• Leadership Retreat Facilitation

วิธีการ Coaching
เป็นโปรแกรมที่ออกแบบด้วยความเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ เชื่อในศักยภาพของคน เชื่อว่าความรู้ที่แท้จริงต้องเกิดขึ้นภายในตน และใช้กระบวนทัศน์แบบองค์รวมในการ Coaching และใช้แนวทางการเรียนรู้และพัฒนาภายในตน (Inside Out)
• ตลอดช่วงเวลาของการ Coaching จะใช้กระบวนการสนทนา การฝึกฟังอย่างลึกซึ้งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
• การจัดโปรแกรมให้เหมาะสมกับแต่ละคน
• เน้นให้ผู้บริหารฝึกสติ สงบตั้งมั่น สังเกตใคร่ครวญภายในจิตใจ เฝ้ามองสภาวะภายในตนเอง
• เพิ่มศักยภาพด้วยเทคนิคต่างๆ เรียนรู้จากประสบการณ์ เรื่องเล่า success story หรือ best practice
• เรียนรู้ร่วมกันด้วยการลงมือทำจริง ฝึกฝน ใช้เทคนิคการเรียนรู้ ค้นหา พัฒนาความสัมพันธ์กับผู้อื่น และใคร่ครวญ สังเกต สะท้อนการเรียนรู้ (Reflection) และเขียนบันทึกการเปลี่ยนแปลง(Journal)
• Coach จะทำหน้าที่ของกัลยาณมิตรสะท้อนการเรียนรู้
• การประเมินผู้บริหารแต่ละคน และนำเสนอรายงาน
• การรายงานความก้าวหน้า

ประเภทของการ Coaching
• การ Coach แบบตัวต่อตัว (One-on-One Coaching)
• การ Coach ทีม หรือกลุ่มย่อย (A Team or Group of Leaders Coaching)
• การ Coach ทางโทรศัพท์ และ e-Mail

Coaching เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง Coach และผู้บริหาร กระบวนการ Coaching จะถูกออกแบบตามความต้องการและความเหมาะสมของแต่ละบุคคล

eMail: tasaneejar@gmail.com

วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ก้าวย่างสู่ความเป็น coach


นับจากวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ที่ตัดสินใจเข้าเรียนใน ICA หรือ International Coach Academy จนกระทั่งวันนี้เหลือสอบ อีก 2 ชั่วโมง ก็จะเรียนจบ ทั้งหมดนี้ได้ใช้เวลาในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฝึกฝนไปอย่างน้อย 200 ชั่วโมง เมื่อย้อนกลับไปมอง เราพบว่าได้เรียนรู้วิชาการ ทักษะ เทคนิคมากมายในการ coach แต่ที่สำคัญได้ค้นพบและรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงภายในตนเองอย่างมาก วิธีการคิดเปลี่ยนไป วิธีการมองตนเอง มองผู้คน มองโลกเปลี่ยนไป ทุกวันนี้ ยอมรับตนเองทั้งด้านดีและไม่ดี มองโลกในแง่บวกมากขึ้นกว่าเดิม ยอมรับในตัวผู้คน ความเป็นตัวตน ความคิด ความอ่านที่หลากหลาย ความแตกต่างทางวัฒนธรรม รู้สึกถึงอิสรภาพในการใช้ชีวิตของตนเอง ยอมรับตัวเองอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ขอย้อนกลับไปในห้องเรียน virtual ที่ ICA เราเรียนอะไรกันหรือ ถึงได้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น วิชาที่เรียนไม่ได้แตกต่างจากโรงเรียนสอน coach ซึ่งมีมากมายหลายแห่งในโลกนี้ การเรียนการสอนเป็น teleclass ทั้งหมดส่วนใหญ่ใช้ skype โทรเข้าไปเรียนตามตารางเรียนที่ ICA กำหนดไว้ ชั่วโมงเรียนมีหมุนเวียนกันไป แต่ละคนสามารถเลือกเวลาที่เราสะดวกได้ ข้อดีของการเข้าเรียน คือเป็นการเรียนการสอนแบบผู้ใหญ่ ต้องรับผิดชอบตัวเอง เตรียมตัวอ่านเนื้อหา เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ ได้ฟังภาษาอังกฤษ ได้พูดบ้าง ซึ่งก็แล้วแต่ผู้เรียนจะพูดหรือไม่พูดก็ได้ คนมาเรียนเป็น coach มืออาชีพเก่งๆมาเพื่อเพิ่มเติมความรู้ก็มี มือใหม่หัดขับ มือระดับกลางๆ มีทุกแบบ ทุกสไตล์ สำหรับวิชาที่เรียนแบ่งออกเป็น
FC-100 Foundation of coaching เรียน 12 ชั่วโมง
PT-100 Power Tools เรียน 16 ชั่วโมง
AC-100 Advanced Coaching I เรียน 32 ชั่วโมง
AC-200 Advanced Coaching I เรียน 27 ชั่วโมง
BC-100 Business Building Coach เรียน 12 ชั่วโมง

นอกจากเรียนแล้วต้องฝึกปฏิบัติจริง ทำงานส่งด้วย สิ่งที่ต้องทำคือ
Comunity of Practice เป็นห้องเรียนแบบชุมชนการเรียนรู้เฉพาะผู้ที่สนใจร่วมกัน CoP แบ่งออกไปตามกลุ่ม niche เช่น life coach, business coach, executive coach, diversity coach, spiritual coach, ฯลฯ ใครจะเข้าไปฝึกใน CoP ไหนก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง

งานที่ใช้เวลามากที่สุด คือการฝึก coach จริงๆ โดยฝึกเป็น coachee ให้เพื่อนๆที่เรียนด้วยกัน coach ทั้งหมด 12 ชั่วโมง และต้องฝึก caoch เพื่อนๆ 3 คน (peer coaching) และ coach คนภายนอกอีก 2 คน (external coaching) ทั้งหมดต้องใช้เวลาอย่างน้อยคนละ 12 ครั้งๆละ 1 ชั่วโมงหรือมากกว่า รวมทั้งสิ้นก็ 60 ชั่วโมง

สำหรับงานที่ต้องทำส่ง คือ ให้ออกแบบ coaching model, power tool ตามสไตล์การ coach และความสนใจ ความถนัดของแต่ละคน แล้วก็มีการสอบเป็นข้อเขียน (written exam) เป็นข้อสอบเปิดตำราทำ แล้วก็ทำ research paper ส่ง 1ชิ้น ความยาวประมาณ 2,000 คำ นอกจากนี้ ในระหว่างเรียนให้เขียน journal เพื่อบันทึกการเรียนรู้ระหว่างทาง โดยใช้ blog หรือวิธีการอื่นๆ ตามแต่ความถนัด

ที่สำคัญและตื่นเต้นมากๆ คือการ assessment ที่ทุกคนต้องผ่านคือ supervised caoch 12 ชั่วโมง ทาง ICA จะให้เราสอบการ coach 6 ครั้ง โดยใช้เวลา 15 นาที่ต่อครั้ง หรือเรียกว่า laser session เพื่อพัฒนาให้เรามี core competency ตามที่ ICF หรือ International Coach Federation กำหนด ในระหว่างนั้น จะมีการสอบปากเปล่า หรือ oral exam ด้วย นี่คือทั้งหมดของการเรียนเพื่อเป็น professional coach ของ ICA

เวลาที่ผ่านมา ช่างเป็นเวลาที่มีความสุข คุ้มค่า และได้เรียนรู้ชีวิตจริงๆ ย้อนกลับไปมองแล้ว แต่ละชั่วโมง แต่ละวันที่เรียน ถ้าเปิดใจให้กว้าง ค่อยๆเก็นเกี่ยวประสบการณ์ในการเรียนรู้ การรู้จักเพื่อนใหม่ทั่วโลก การ coach ที่ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกับ coachee การแลกเปลี่ยนทัศนะต่อชีวิตและโลกร่วมกัน ได้ทำให้ตัวเราและเพื่อนๆสามารถดูแลตนเอง ใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย ตระหนักรู้ในศักยภาพของตนเอง เปิดรับและแสวงหาความรู้ใหม่มาเติมเต็มความฝัน และมี passion ที่จะช่วยเหลือผู้อื่นให้เขาประสบความสำเร็จ และมีความสุข

นี่คงเป็นจุดที่สำคัญที่ได้เรียนจากชีวิตจริงๆของเพื่อน ลูกค้า และที่สำคัญได้ย้อนกลับมาเรียนรู้ภายในตนเอง พัฒนาตนเอง เพราะถ้า coach ยังดูแลตัวเองไม่ได้ ก็คงจะลำบากในการที่จะ coach ผู้อื่น ขอบคุณห้องเรียน ICA ผู้สอนทุกคน เพื่อนๆจากทุกมุมโลกที่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ และขอบคุณอย่างยิ่ง สำหรับเพื่อนคนไทยทั้งหมด ทุกคนที่มีส่วนช่วยประคับประคองในฐานะ coach บ้าง mentor บ้าง และเป็น caochee บ้าง สนับสนุนการเรียน การใช้ภาอังกฤษ ให้งานทำระหว่างเรียน ให้กำลังใจ และอีกมากมาย รวมถึงครอบครัวที่อนุญาตให้เดินตามฝัน และเป็นกำลังใจ...

Link:
International Coach Academy: http://www.icoachacademy.com/
International Coach Federation: http://www.coachfederation.org/

วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

Learn from within himself.

One cannot teach a man anything, One can only enable him to learn from within himself. Galileo.

วันหนึ่ง สมฤดีโทรมาปรึกษาเรื่องของชาติชาย ลูกน้องคนโปรด ได้ความว่าชาติชายทำงานระดับพนักงานในบริษัทมา 6 ปี เขาเป็นคนที่ทำงานดี เก่ง ฉลาด คิดเร็ว พูดจาฉะฉาน คล่องแคล่ว ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิผล ถือเป็นพนักงานแถวหน้า ด้วยความเก่งที่สะสมมาทำให้เขาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จนวันหนึ่งเขาได้รับการโปรโมทขึ้นเป็นหัวหน้างาน ปัญหาของสมฤดี ที่ไม่ใช่ปัญหาของชาติชายก็เกิดขึ้น


สมฤดี เล่าว่าชาติชายใช้วิธีทำงานแบบเดียวกับตอนที่เขาเป็นพนักงาน เขาไม่ได้คิดถึงการถ่ายทอดความรู้และสอนงานให้ลูกทีม เขาไม่ได้มอบหมายงานและติดตามงาน เขาได้ใจลูกน้อง พากันไปทานข้าวอร่อยๆ เฮฮา พูดคุยสนุกสนาน แต่ทีมทำงานไม่เข้าเป้า ไม่ได้มาตรฐาน ลูกค้าต่อว่า ชาติชายเป็นคนที่มั่นใจในตนเองสูง ไม่สนใจความคิดของลูกค้า เขาคิดว่าทำถูกแล้ว ดีแล้ว สมฤดีได้รับแจ้งจากลูกค้าและป้อนข้อมูลย้อนกลับ สมฤดีได้พยายามโค้ช ซึ่งชาติชายก็รับฟังดีแต่ไม่แก้ไขปรับปรุง สมฤดีสรุปว่าเธอเสียพนักงานที่มีความสามารถไปหนึ่งคน และได้หัวหน้างานที่ไม่ถูกใจมาหนึ่งคน เธอควรจะทำอย่างไรดี? ทำไมชาติชายจึงไม่ให้โอกาสแก่ตนเอง?

หลายๆคน น่าจะพอคุ้นกับเรื่องราวของชาติชาย และ การที่เราจะโปรโมทคนนั้น มีขั้นตอนสำคัญที่ต้องเตรียมการ คือการวางแผนพัฒนาพนักงาน (Individual Career Plan) เตรียมการเพื่อการขึ้นสู่ตำแหน่งให่ โดยหาความแตกต่าง (Gaps) ระหว่างคุณสมบัติที่ต้องการในตำแหน่งใหม่ และความสามารถที่พนักงานมีในปัจจุบัน แล้วพัฒนาพนักงานด้วยวิธีการฝึกอบรมในห้องเรียน OJT มอบหมายงานพิเศษ งานโครงการ self study ฯลฯ เพื่อให้มีความพร้อมในการก้าวสู่ตำแหน่งใหม่

เมื่อก้าวขึ้นตำแหน่งใหม่ก็อาจให้มีพี่เลี้ยง หรือโค้ช
  • การให้มีพี่เลี้ยง (Mentor) คอยแนะนำเมื่อก้าวสู่ตำแหน่งใหม่ เพื่อให้คำแนะนำ ดูแลให้ทำงานได้อย่างเต็มความสามารถ
  • การโค้ชโดยหัวหน้างาน หรือ Professional Coach เพื่อให้ชาติชายได้เปิดมุมมองใหม่ มุมมองของหัวหน้างาน ที่ต้องทำงานในอีกระดับ คือการบริหารงานและบริหารทีม ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด

การที่ชาติชายมีโค้ช จะแก้ปัญหาต่างๆได้ แต่ชาติชายต้องให้โอกาสแก่ตนเอง เรียนรู้จากภายในตน เปิดใจกว้าง รับฟัง ปฏิบัติ และ ปรับตนเอง (Transform) ไปสู่การเป็นหัวหน้างานที่เยี่ยมยอด ชาติชายทำได้แน่ ถ้าเขาเปิดใจ ตั้งใจ และมุ่งมั่นที่จะเป็นหัวหน้างานที่ดี มีความภาคภูมิใจในตนเองเหมือนกับที่เขามีตลอดเวลาที่เป็นพนักงาน

การดูแลคนเก่งย่อมยากกว่า และท้าทายกว่า แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่สมฤดีสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ชาติชายได้ เขาจะเป็นผู้จัดการพันธ์ A ติดปีกบินได้สูงและไกลทีเดียว สมฤดีต้องคุยกับชาติชาย สื่อสาร รับฟัง และใช้คำถามที่ทำให้เกิดการเรียนรู้และเสริมสร้างศักยภาพ คำสำคัญที่สมฤดีกำลังมองหาเพื่อตนเองและทีม ก็คือ Inspirational Leadership การเป็นผู้นำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ตนเอง ทีมงาน และองค์กร สร้างพลังงานเชิงบวกให้เกิดขึ้น ทำให้คนเปิดใจที่จะเรียนรู้ มองโลกด้วยมุมมองใหม่ๆ


วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

Powerful Listening


“The most basic of all human needs is the need to understand and be understood. The best way to understand people is to listen to them.” (Ralph Nichols)
ทักษะการฟังเป็นทักษะหนึ่งที่จำเป็นสำหรับ Coach จากการฝึกฝนมาหลายเดือน พบว่าสิ่งที่ได้จากการฟังคือ ทำให้ได้รับความรู้ และข้อมูลอย่างเต็มที่ เข้าใจคนอื่นถึงความคิดและเหตุผลของเขามากขึ้น ผู้อื่นพอใจเรามากขึ้น การที่จะเป็นผู้ฟังที่ดีนั้น เป็นสิ่งที่ดูเหมือนง่าย แต่จริง ๆ แล้วในทางปฏิบัติทำได้ยาก คนส่วนมากรู้ เข้าใจ แต่ทำไม่ค่อยดีนักเพราะทักษะการฟังจำเป็นต้องฝึกฝนอยู่เสมอ และต้องใช้ศิลปะเพื่อการฟังให้ถูกต้อง
ทักษะการฟังที่ดีนั้นต้องฟังด้วยความสนใจ ตั้งอกตั้งใจและกระตือรือร้นที่จะฟัง ฟังโดยสังเกตอย่างถี่ถ้วน ฟังให้เข้าใจความหมายเพื่อให้จับใจความของเนื้อหาได้ถูกต้อง นอกจากได้เนื้อหาแล้ว ยังต้องฟังสำเนียงและสังเกตสีหน้า รวมทั้งท่าทางของผู้พูดอีกด้วยว่าผู้พูดหมายถึงอะไร นอกจากนี้ต้องฟังด้วยความอดทนจนจบโดยไม่พยายามคาดเดาล่วงหน้าไปก่อนว่าเขา จะพูดอะไรซึ่งอาจคาดคะเนผิดได้ ฟังโดยไม่คิดเตรียมตัวโต้ตอบ ฟังอย่างมีสมาธิ ฟังด้วยความเข้าใจ ฟังโดยมุ่งเฟ้นหาใจความสำคัญมากกว่าคอยสนใจจับผิดการใช้สำนวน ฟังโดยไม่ขัดคอ ฟังเพื่อพยายามหาประเด็นที่จะประนีประนอมกัน ฟังเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน ฟังอย่างลึกซึ้งถึงจิตใจของผู้พูด รับรู้ถึงความรู้สึกของผู้พูดในขณะนั้นโดยไม่รีบด่วนตีความหมายความเข้าใจของผู้พูดเสียก่อนที่เขาจะพูดจบ การฟังแบบนี้ต้องฟังด้วยจิตว่างปราศจากอคติ หรือต้องแขวนคำพิพากษา

โดยปกติ Coach จะใช้เวลาฟัง 80% และใช้เวลาในการถามหรือสนทนา 20% และ Coach ที่ดีจะฟังเพื่อมองหาโอกาส มองหาจุดดี จุดแข็ง เพื่อรับรู้ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ทัศนคติเชิงบวก ตลอดจนสิ่งที่ Coachee ไม่ได้พูดออกมา อาจดูจากภาษาท่าทาง หรือสังเกตจากโทนเสียง จังหวะ และน้ำเสียงที่ใช้ ความเร็วในการพูด Coach จะช่วยใช้คำถามและเทคนิคกระตุ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ Coachee เกิดการเรียนรู้ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นและจูงใจ เพื่อให้เกิดกำลังใจในการก้าวไปสู่สิ่งที่ดีกว่า หรือได้รับในสิ่งที่ต้องการ

วันเสาร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2552

มุมมองปี'52 สำหรับมนุษย์เงินเดือน

ปี 2552 เป็นปีที่มาพร้อมกับความแรง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม มีข่าวคราวที่ทำให้หลายคนเกิดความวิตก กังวล กลุ้มใจ ห่วงใยอนาคต มีบางคนกลับมองหาโอกาสบางอย่างที่จะเกิดขึ้นในวิกฤติ หลายๆคนมีคำถามว่า ควรจะกลัวมั้ย? จริงๆแล้วกลัวหรือไม่กลัว กังวลมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับ มุมมอง วิธีคิด และการใช้ชีวิตของแต่ละคน และภาระที่แต่ละคนแบกเอาไว้ แต่...ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ขอให้ใช้มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันให้ดีที่สุด
มุมมองที่ดีอย่างหนึ่งคือ เริ่มต้นปีด้วยการ "ขอบคุณ" เหมือน สคส.จาก ท่าน ว.วชิระเมธี ขอบคุณทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมา ขอบคุณต่อความรัก ครอบครัว เพื่อน เจ้านาย และบริษัท ขอบคุณร่างกายที่แข็งแรง สุขภาพที่ดี กำลังใจที่จะต่อสู้ มีบางครั้งที่เจ็บป่วยทำให้ต้องปรับตัวในการใช้ชีวิต ก็ขอบขอบคุณความเจ็บป่วยที่ทำให้สำนึกได้และปรับตัวได้ทันเวลา
ถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือน ต้องมีมุมมองเพิ่มขึ้น ปีนี้ลองเริ่มต้นที่ "ตนเอง" ด้วยการวางแผนและพัฒนาตนเองให้มีความสามารถมากยิ่งขึ้น เคล็ดลับที่สำคัญคือ "ลงมือทำทันที" ไม่ต้องรอให้เจ้านายพูด ไม่ต้องรอ HR มาถาม สำหรับ วิธีการพัฒนาตนเอง มีดังนี้ค่ะ
1. เริ่มต้นทำความรู้จักกับหน้าที่ ความรับผิดชอบ งานที่ได้รับมอบหมายในปีนี้ และความคาดหวังของบริษัทหรือเจ้านายอย่างถ่องแท้ ถามตัวเองว่าบริษัทจ้างเรามาทำอะไร?
2. หน้าที่หรืองานนี้ต้องใช้ความรู้ ทักษะด้านไหนบ้าง ถามตัวเองว่าเรามีจุดแข็งด้านไหนที่จะนำมาใช้ในการทำงานบ้าง เรามีความรู้เพียงพอหรือยัง ขาดทักษะด้านไหนบ้าง เขียนออกมาให้หมด ทำเป็นรายการเอาไว้
3. เรียงลำดับความสำคัญของสิ่งที่เราได้จากข้อที่ 2 ถามตัวเองว่าทักษะด้านไหนที่จำเป็นเร่งด่วน ต้องพัฒนามากที่สุด
4. มองหาวิธีการเช่น หาคอร์สฝึกอบรม อ่านหนังสือ ศึกษาจาก internet มองหาความสนับสนุนจากเพิ่อน พี่เลี้ยง เจ้านาย Coach หรือ HR
5. ลงมือหาความรู้ ฝึกฝน พัฒนาตนเอง
6. ประเมินความก้าวหน้า ถามตนเองว่าทำงานได้ดีขึ้น เร็วขึ้น คล่องแคล่วขึ้นหรือไม่ สังเกตดูว่าเจ้านาย เพื่อน หรือลูกค้า พึงพอใจ ชื่นชมหรือไม่ คำบ่น วิจารณ์ลดลงหรือไม่
7. เลือกเรื่องสำคัญอันดับต่อไปในรายการมาพัฒนาตนเอง

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราทำงานเป็น ที่ปรึกษา เราขาดความมั่นใจในการนำเสนองาน ก็อาจขอเข้าคอร์สฝึกอบรม อ่านหนังสือ อาสาทำ presentation ขอโอกาสในการนำเสนอ ขอให้เจ้านายฝึกฝน และถ้ามี Coach ก็ขอเข้ากระบวนการโค้ชในเรื่องนี้โดยเฉพาะสัก 3-6 เดือน
การที่เราเริ่มต้นจากตนเอง คิด วางแผน ลงมือพัฒนาตนเองอย่างเป็นขั้นตอนต่อเนื่อง และประเมินผลด้วยตนเอง เมื่อสำเร็จแล้วก็ลงมือพัฒนาทักษะในเรื่องต่อไปนั้น สิ่งที่ได้คือความรู้และทักษะ คนที่ได้คือตนเอง ผลที่ได้รับก็มีแต่ผลดีต่อตนเอง

ในด้าน HR มีศัพท์ที่เรียกว่าการวางแผนการพัฒนาตนเอง (Individual development plan: IDP) แต่สำหรับเจ้านายและบริษัทแล้วล่ะก็ นี่ ตือมุมมองที่เขาอยากเห็น เขาอยากได้พนักงานที่กระตือรือร้น พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

แล้วถ้าเราไม่อยากกังวลมากในปีนี้ เราก็พัฒนาตนเองให้เป็นคนเก่ง เป็นคนที่เขาอยากเห็น เป็นคนที่องค์กรต้องการดีกว่าค่ะ

วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551

The Need to Grow


วันนี้เป็นวันสุดท้ายของเดือนธันวาคม ปี 2551 เป็นวันที่นั่งทำสมาธินานเป็นพิเศษ

จริงๆแล้วเดือนนี้ ถือเป็นเดือนแห่งการพักผ่อน พอๆกับการวางแผนงาน เป็นเดือนที่ย้อนทวนถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาในรอบปี ขอบคุณต่อทุกสิ่ง ทุกเหตุการณ์ ทุกคน ทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี ต่างก็ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้ ให้อภัยแก่ตนเองและผู้อื่น แล้วเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไว้เป็นบทเรียนแห่งปี เพื่อจะได้ระมัดระวัง และก้าวเดินเพื่อเติบโตต่อไป

เมื่อนึกถึงก้าวต่อไปของตนเอง การประกอบอาชีพเป็นโค้ช การทำงานอิสระ ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ ชีวิตใหม่ งานใหม่ ภาพแห่งการเดินทางเปรียบได้กับการออกผจญภัยในโลกใบใหม่ ดูน่ากลัว เมื่อคิดว่าต้องเดินทางผ่านความกังวล ความไม่รู้ และความกลัวเพื่อที่จะเติบโต ต้องเตรียมใจรับความเปลี่ยนแปลง หรืออาจต้องเจ็บปวดไม่มากก็น้อย


ลึกๆแล้ว เรามักจะไม่อยากออกจากจุดที่เราคุ้นเคย มันเป็น comfort zone ที่เราสบายใจ ปลอดภัย แต่ก็ฉุดเราไว้ไม่ให้เติบโตก้าวหน้า ไปสู่จุดมุ่งหมายในชีวิต สิ่งที่คิดว่าน่าจะช่วยได้และทำได้ก็คือปรับตัว ปรับเปลี่ยนมุมมอง ดึงพลังงานที่ซ่อนอยู่ภายใน ใช้ตา ใช้ใจ ใช้ความกล้าหาญ มองไปที่ life passion, life vision เพื่อที่จะได้มีแรงฮึด "ลงมือทำ" แล้วก็ต้องวางแผนล่วงหน้าเพื่อลดความเสี่ยง ลดความเจ็บปวด ลดความกลัวลง


ปีใหม่นี้ ขอให้ทุกคนเติบโต ก้าวหน้า มีความสุข และมีชีวิตอย่างที่ต้องการ

สำหรับใครที่กำลังปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอยู่ล่ะก้อ ขอส่งกำลังใจให้...ในฐานะเพื่อนร่วมทาง


"Nothing happens without personal transformation.”"
- W. Edwards Demin -

วันอังคารที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ความแตกต่างระหว่าง Coach และ Consultant

ด้วยความที่เป็น "ที่ปรึกษา (Consultant)" ทั้งภายในและภายนอกองค์กรมาเกือบสิบห้าปี และใช้ชิวิตในการเป็นหัวหน้าทีมที่ต้องดูแลงาน สอนงานน้องๆมากกว่า 20 ปี แถมยังเป็นวิทยากรเรื่องการสอนงาน (Job Instruction) มาเกือบ 10 ปี เรียกได้ว่าใช้มาหมดแล้ว คำว่า Coach, Consultant, Mentor, Buddy, Instructor แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าใช้ได้ถูกต้องหรือไม่ ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำคืออธิบายตัวเองให้ได้ว่าความเหมือนและความแตกต่าง ตลอดจนความเกี่ยวข้องกันของ Coach กับ Consultant คืออะไร

พูดกันตามความเข้าใจ คำว่า "Consultant" สามารถใช้ภาษาไทยว่า "ที่ปรึกษา" เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กร ที่ปรึกษาด้านระบบ HRIS

"ที่ปรึกษา" ทำหน้าที่ให้คำแนะนำ ให้ข้อมูล ให้แนวทาง ข้อคิดเห็น (advice, information and recommendations) หรือแก้ไขปัญหาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ตกลงไว้กับลูกค้า (solutions) เช่น พัฒนาระบบ HRIS หรือวางระบบ Balanced Scorecard เมื่อทำงานเสร็จตามเงื่อนไขในสัญญา ที่ปรึกษาก็จะส่งมอบงานและถอนตัวออกไปจากองค์กร โดยทั่วไปที่ปรึกษาจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่นอกเหนือจากข้อตกลง หรือเรื่องที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ

แต่ในอาชีพ "โค้ช (Coach)" นั้นจะทำงานในภาพที่กว้างกว่า โค้ชจะสำรวจเพื่อตรวจสอบสถานการณ์ จัดทำแผนงาน และทำงานร่วมกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อแก้ไขปัญหา ว่ากันว่า โค้ชไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในธุรกิจของลูกค้าเหมือนที่ปรึกษา แต่ลูกค้าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ (expert) ในธุรกิจของตน โค้ชและลูกค้าจะร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยให้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และที่สำคัญคำตอบ หรือแนวทางแก้ไขปัญหาเป็นของลูกค้า ในกรณีที่โค้ชมีประสบการณ์ในงานนั้นๆมากก่อนถือว่าจะดีมาก จะทำให้ลูกค้ามั่นใจว่ามีผู้สนับสนุนที่ดี โค้ชไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเหมือนที่ปรึกษา แต่ต้องใช้กระบวนการ เครื่องมือ และมีวิธีการต่างๆ เช่น การถามคำถาม ที่จะทำให้ลูกค้าค้นพบคำตอบหรือค้นพบสิ่งที่ลูกค้าต้องการ

สำหรับที่ปรึกษา "Knowledge is power" แต่สำหรับโค้ช "Application of knowledge is power"